ที่มาของภาพ, Emmanuel Lafont
เธอคือบุคคลแรกในโลกที่นำไข่และอสุจิมนุษย์มาปฏิสนธิภายนอกร่างกายได้สำเร็จ นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งสำคัญที่นำไปสู่การทำ "เด็กหลอดแก้ว" (in vitro fertilization - IVF) เทคโนโลยีช่วยผู้มีบุตรยากที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน ทว่าชื่อของเธอกลับไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก
วันอังคารหนึ่งของเดือน ก.พ.ปี 1944 มีเรียม เมนกิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการห้องวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) ชาวอเมริกัน วัย 43 ปี ต้องอดนอนตลอดทั้งคืนเพื่อปลอบโยนลูกสาวอายุ 8 เดือนที่ร้องไห้งอแงเพราะเจ็บเหงือกจากฟันที่กำลังขึ้น
เช้าวันต่อมา มีเรียมไปทำงานที่ห้องแล็บตามปกติอย่างที่เธอทำมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ภารกิจทุกวันพุธของเธอคือการนำไข่มนุษย์มาผสมกับตัวอสุจิในจานแก้ว แล้วภาวนาให้มันรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว
ในฐานะเจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องแล็บของ ดร.จอห์น ร็อค ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป้าหมายในการทำงานของมีเรียมคือการผสมไข่ในหลอดแก้ว (ภายนอกร่างกายมนุษย์) ซึ่งเป็นขั้นแรกในแผนการแก้ปัญหาการมีบุตรยากของ ดร.ร็อค
สำเร็จเพราะ "งีบหลับ" ในที่ทำงาน
ที่มาของภาพ, Center for the History of Medicine, Harvard
ในปี 1944 ไข่และอสุจิมนุษย์ได้รับการปฏิสนธิภายนอกร่างกายสำเร็จเป็นครั้งแรก
ตามปกติ มีเรียมจะปล่อยให้อสุจิและไข่ผสมกันประมาณ 30 นาที
แต่ในวันพุธนั้นกลับไม่ได้เป็นไปตามแผน
หลายปีต่อมา มีเรียมได้เปิดเผยว่า "ดิฉันรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนมากในขณะที่ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูตัวอสุจิว่ายไปมารอบ ๆ ไข่ จนลืมดูนาฬิกาไปสนิท กว่าจะรู้ตัวอีกทีเวลาก็ล่วงไปหนึ่งชั่วโมงแล้ว...พูดง่าย ๆ ก็คือ ดิฉันต้องยอมรับว่าความสำเร็จของดิฉัน หลังจากล้มเหลวมา 6 ปีนั้น ไม่ได้เกิดจากความฉลาดหลักแหลม แต่มาจากการงีบหลับระหว่างทำงาน !"
ในวันศุกร์ของสัปดาห์นั้น มีเรียมกลับไปทำงานที่ห้องแล็บ แล้วได้พบภาพอันน่าอัศจรรย์ของเซลล์อสุจิและเซลล์ไข่ที่รวมตัวกัน และตอนนี้กำลังเกิดการแบ่งตัว ทำให้เธอได้เห็นภาพตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้รับการปฏิสนธิขึ้นในหลอดแก้วสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
ความสำเร็จของมีเรียมครั้งนี้ ได้ช่วยปูทางไปสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์ ซึ่งช่วยให้ผู้หญิงที่มีบุตรยากได้ตั้งครรภ์ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาชีวิตมนุษย์ในระยะแรกเริ่ม
ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ในปี 1978 โลกได้ต้อนรับ ลูอิส บราวน์ "เด็กจากหลอดทดลอง" คนแรกที่ปฏิสนธิด้วยวิธีที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า "การทำเด็กหลอดแก้ว"(in vitro fertilization - IVF)
ที่มาของภาพ, Getty Images
ข่าวการถือกำเนิดของเด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกเป็นข่าวดังที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก
หลังจากนั้น มีเรียมได้เป็นผู้เขียนร่วมในเอกสารงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 18 ชิ้น ซึ่งรวมถึงงานชิ้นประวัติศาสตร์ 2 ชิ้นเกี่ยวกับความสำเร็จในครั้งแรกของเธอ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกอย่าง Science
แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อ มีเรียม เมนกิน กลับไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับ ดร.ร็อค ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยของเธอ
มาร์กาเร็ต มาร์ช นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ในสหรัฐฯ และผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง The Fertility Doctor: John Rock And The Reproductive Revolution กล่าวว่า มีเรียมเป็นมากกว่าแค่ผู้ช่วยของ ดร.ร็อค
"ดร.ร็อค เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา แต่มีเรียมเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความคิด ความเคร่งครัด และความเชื่อแบบนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามระเบียบวิธีวิจัย"
ที่มาของภาพ, Getty Images
โฉมหน้าของ ลูอิส บราวน์ หญิงชาวอังกฤษที่เกิดจากการทำ IVF คนแรกของโลก
ชีวิตวัยเด็ก
วันหนึ่งในปี 1900 ไข่กับอสุจิได้ผสมเข้าด้วยกัน แล้วเกิดการแบ่งตัวเป็น 2 เซลล์ จากนั้นก็เพิ่มเป็น 4 และ 8 เซลล์ 9 เดือนถัดมา มีเรียม เฟรดแมน ได้ลืมตาดูโลกในกรุงริกา ประเทศลัตเวีย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ปี 1901
ตอนอายุประมาณ 2 ขวบ ครอบครัวของเธอได้อพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ โดยที่พ่อได้ทำงานเป็นหมอ
เมื่อโตขึ้น มีเรียมได้เดินตามรอยบิดา โดยสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในปี 1922 ด้วยปริญญาด้านประวัติศาสตร์ และกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ (comparative anatomy)
ในปีต่อมา เธอได้รับปริญญาโทด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้สอนวิชาชีววิทยาและสรีรวิทยาเป็นระยะสั้น ๆ ในนครนิวยอร์ก
ตอนที่มีเรียมตัดสินใจสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนการแพทย์ เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคแรก นั่นคือ การถูกปฏิเสธจากโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ 2 แห่ง น่าจะด้วยเหตุผลที่เธอเป็นผู้หญิง เพราะในสมัยนั้นมีโรงเรียนแพทย์ชั้นนำเพียงไม่กี่แห่งที่รับผู้หญิงเข้าเรียน
ชีวิตสมรส
ในเวลาต่อมา มีเรียมได้แต่งงานกับอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ชื่อ วาลี เมนกิน ซึ่งตอนนั้นกำลังเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ส่วนเธอทำงานเป็นเลขาเพื่อช่วยหาเงินส่งสามีเรียนหนังสือให้จบ
มีเรียมใช้ความใกล้ชิดในแวดวงวิชาการสมัครเข้าเรียนหลักสูตรต่าง ๆ ด้านวิทยาแบคทีเรีย และคัพภวิทยา หรือ วิทยาเอ็มบริโอ ที่ศึกษาเรื่องตัวอ่อนมนุษย์ รวมทั้งยังช่วยสามีในการทดลองต่าง ๆ ในห้องแล็บด้วย ซึ่งที่นั่นทำให้เธอได้รู้จักกับ ดร.เกรกอรี พินคัส นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งในเวลาต่อมาเขาและ ดร.ร็อค ได้ร่วมกันพัฒนายาคุมกำเนิดชนิดเม็ด
ดร.พินคัส ได้มอบหมายให้มีเรียมช่วยสกัดฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิดจากต่อมใต้สมอง แล้วนำไปฉีดใส่มดลูกของกระต่ายเพศเมียเพื่อกระตุ้นให้มีการตกไข่เพิ่ม
การทดลองการปฏิสนธิเทียม
ที่มาของภาพ, Center for the History of Medicine, Harvard
ดร.จอห์น ร็อค เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ปฏิวัติการวิจัยเด็กหลอดแก้ว
ดร.ร็อค ได้เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ ซึ่งต้องการนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองในสัตว์ของ ดร.พินคัส ไปสู่การวิจัยทางคลินิก
โดยทุกวันอังคาร เวลา 08:00 น. มีเรียมจะวนเวียนอยู่ที่ด้านนอกห้องผ่าตัดที่ชั้นใต้ดินของโรงพยาบาลเพื่อการกุศลสำหรับสตรีรายได้ต่ำแห่งหนึ่งในเมืองบรุกไลน์ รัฐแมสซาชูเซตส์
หากเธอโชคดี ดร.ร็อค จะส่งรังไข่ชิ้นเล็ก ๆ ที่เขานำออกจากคนไข้ให้แก่เธอ จากนั้นมีเรียมจะผ่าถุงไข่ ซึ่งเธอเล่าว่ามีขนาดประมาณเม็ดถั่วเฮเซลออกมาเพื่อหาไข่อันล้ำค่าที่อยู่ข้างใน
สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า มีเรียมจะทำงานเป็นกิจวัตร นั่นคือ ออกหาไข่ในวันอังคาร, ผสมไข่เข้ากับอสุจิในวันพุธ, ภาวนาให้ไข่และอสุจิรวมตัวกันในวันพฤหัสบดี และส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจผลในวันศุกร์
การทดลอง 6 ปี
ทุกวันศุกร์ เวลาที่มีเรียมตรวจดูตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน สิ่งที่เธอเห็นมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ไข่ที่ไม่ได้รับการผสม และตัวอสุจิที่ตายแล้ว เธอทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ 138 ครั้ง ในช่วงเวลากว่า 6 ปี
จนกระทั่งวันศุกร์หนึ่งในเดือน ก.พ.ปี 1944 ที่เธอเปิดประตูตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนออกมา แล้วต้องร้องเรียก ดร.ร็อค
ในขณะนั้นห้องแล็บเต็มไปด้วยผู้มาเยี่ยมชม "ทุกคนวิ่งกรูกันเข้ามาดูมนุษย์อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา"
ในเวลาต่อมา มีเรียมเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า เธอ "ไม่กล้าปล่อยสิ่งล้ำค่านั้นให้คลาดสายตา"
เธอพยายามรักษาไข่ที่ปฏิสนธิแล้วด้วยการคอยหยอดของเหลวใส่จานเพาะทีละหยดไปตลอดทั้งคืน ทว่าในที่สุดเธอก็สูญเสียมันไป แต่ก็ประสบความสำเร็จในการผสมไข่กับอสุจิได้ซ้ำอีก 3 ครั้ง
แล้วจู่ ๆ สามีของมีเรียมก็ตกงาน ส่งผลให้เธอต้องย้ายตามเขาไปทำงานที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งคนที่นั้นมองว่าการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นงานวิจัยที่อื้อฉาว แม้แต่แพทย์คนหนึ่งยังเปรียบว่ามันเป็น "การข่มขืนในหลอดแก้ว"
การขาดนักวิทยาศาสตร์ทักษะดีอย่างมีเรียมทำให้การวิจัย IVF ในเมืองบอสตันต้องหยุดชะงักลง เพราะไม่มีผู้ช่วยของ ดร.ร็อค คนใดที่ประสบความสำเร็จในการผสมไข่กับอสุจิในหลอดแก้วได้สำเร็จอีกเลย
ที่มาของภาพ, Center for the History of Medicine, Harvard
งานวิจัยเรื่อง IVF ของมีเรียมเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล Free Hospital For Women ในเมืองบรุกไลน์ รัฐแมสซาชูเซตส์
ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้อง
แม้จะไม่สามารถไปที่ห้องแล็บได้ แต่มีเรียมก็ยังคงร่วมงานกับ ดร.ร็อค แบบระยะไกล
ในปี 1948 ทั้งคู่ร่วมกันตีพิมพ์รายงานเรื่องความสำเร็จในการทำ IVF ครั้งแรกในวารสาร Science โดยที่ มีเรียม มีชื่อเป็นนักวิจัยหลัก
แต่จากนั้นไม่นาน นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้นี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการสานต่องานวิจัยเรื่องนี้จากปัญหาครอบครัว
มีเรียมมีความคิดจะหย่าขาดจากสามีมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งจากการที่เขาควบคุมเรื่องการเงิน และการข่มขู่จะใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูกทั้งสองคือ ลูซี และกาเบรียล
แต่เมื่อพฤติกรรมเขาเลวร้ายลง ในที่สุดมีเรียมก็ตัดสินใจเดินออกมาจากชีวิตคู่ และพบว่าตัวเองต้องดิ้นรนอย่างหนักในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องลูก ๆ
กลับไปบอสตัน
ช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 มีเรียมย้ายกลับไปเมืองบอสตัน เพื่อเอาลูซี ซึ่งป่วยเป็นโรคลมชัก เข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ
ส่วนตัวเธอเองได้กลับไปร่วมงานกับ ดร.ร็อค ทว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนับแต่เธอลาออกไป
ในตอนนี้ ห้องแล็บของ ดร.ร็อค ได้เปลี่ยนภารกิจหลักจากการทำเด็กมาเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กเกิด โดยการพัฒนาการคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ที่ใช้งานได้สะดวก จนนำไปสู่การอนุมัติการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1960
ที่มาของภาพ, Center for the History of Medicine, Harvard
นอกจากจะอุทิศตนให้งานด้านวิทยาศาสตร์แล้ว มีเรียม ยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้เลี้ยงดูลูก 2 คนด้วย
ศักยภาพที่ไม่ถูกค้นพบ
ในขณะที่ ดร.ร็อค กำลังเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดของเขา มีเรียมได้ทำงานอยู่เบื้องหลังในฐานะ "ผู้ช่วยงานเขียนวิจัย"
เธอค้นคว้าหาหัวข้อวิจัยต่าง ๆ ตั้งแต่การแช่แข็งอสุจิของญี่ปุ่นไปจนถึงการปฏิสนธิม้า เธอยังร่วมเขียนงานวิจัยที่ศึกษาว่าสายกางเกงชั้นในที่ทำความร้อนได้จะทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้ชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดูห่างไกลจากเป้าหมายเริ่มแรกของเธอ แต่ก็เป็นความพยายามขยายขอบเขตความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศึกษาปริศนาเรื่องการเจริญพันธุ์ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดในยุคนั้น
มันเป็นการยากที่จะทราบได้ว่ามีเรียมจะประสบความสำเร็จเรื่องอะไรบ้าง หากชีวิตของเธอไม่ได้เป็นไปในรูปแบบนี้ หากเธอไม่ได้แต่งงานกับ วาลี เมนกิน หรือหากเธอได้รับปริญญาเอก
แต่สิ่งที่สามารถบอกได้ก็คือสภาพแวดล้อมและยุคสมัยที่เธออยู่นั้น ทำให้เธอต้องอยู่ในกรอบบางอย่าง แม้แต่ความสำเร็จสูงสุดด้านวิทยาศาสตร์ของเธอ เรื่องของมีเรียมยังถูกนำเสนอในลักษณะของแม่ลูกอ่อนจิตฟุ้งซ่านที่สร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญโดยบังเอิญ
แต่หากได้ดูการจดบันทึกอย่างละเอียดถี่ถ้วนของเธอ ความเคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัย และเอกสารอ้างอิงในงานวิจัยที่มีการสืบค้นมาอย่างดีของเธอ ก็จะเห็นได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวเกิดมาด้วยความสามารถของตัวเธอเองโดยแท้
มาร์กาเร็ต มาร์ช เคยกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้นี้เอาไว้ว่า "เธอไม่ใช่แค่ผู้ช่วยของใคร"
July 25, 2020 at 03:27PM
https://ift.tt/3g32327
IVF : นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้สร้าง “เด็กหลอดแก้ว”ที่ปฏิวัติการเจริญพันธุ์ของมนุษยชาติ - บีบีซีไทย
https://ift.tt/37nF4eM
Bagikan Berita Ini
0 Response to "IVF : นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้สร้าง “เด็กหลอดแก้ว”ที่ปฏิวัติการเจริญพันธุ์ของมนุษยชาติ - บีบีซีไทย"
Post a Comment